วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บัวสี่เหล่า

บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่านั้นแล. ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง ชื่ออุคฆฏิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร ชื่อว่าวิปจิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแบบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าเนยย. บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่าปทปรมะ.

— 'อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ธมฺมเทสนาธิฏฺฐานวณฺณนา'

มหาอานิสงส์ของการพิมพ์หนังสือธรรมะ

“ ดูก่อนสารีบุตร นรชนใดมีใจเปี่ยมด้วยศรัทธาได้สร้างหนังสือพระธรรมไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์แก่ชนทั้งหลายได้อ่านได้สดับฟัง จะได้รับอานิสงส์ใหญ่อันประมาณมิได้ ดูก่อนสารีบุตร อย่าว่าแต่พระพุทธวจนะตลอดทั้งไตรปิฎกนั้นเลย “แม้อักขระธรรมหนึ่งตัว” เป็นเครื่องหมายเพื่อน้อมนำจิตระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้ได้พบเห็น เป็นบ่อเกิดให้ประพฤติคุณงามความดีได้ฉะนั้นแล้วจะยังผลให้ผู้สร้างได้เสวยสุขเกษมสิ้นกาลช้านาน จักได้เสวยราชสมบัติเป็นบรมจักรพรรดิถึง 84,000 กัป ใช่แต่เท่านั้น เมื่อเคลื่อนจากความเป็นจักรพรรดิมาแล้วจะได้เสวยราชสมบัติเป็นพระราชาทรงมหิธานุภาพอีก 9 อสงไขย ต่อแต่นั้นมาก็จะได้เสวยสมบัติในตระกูลต่างๆ เป็นลำดับไปอันมีตระกูล พราหมณมหาศาล ตระกูลเศรษฐี คฤหบดี และภูมิเทวดาอย่างละ 9 อสงไขย ต่อแต่นั้นก็จะได้ไปเสวยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์ 6 ชั้นประณีีตเป็นลำดับขึ้นไปชั้นละ 9 อสงไขย เมื่อจุติจากเทวโลกแล้วก็จะถือเอากำเนิดในมนุษย์มีกายผุดผ่องโสภาเป็นที่ปฏิพัทธ์รักใคร่ของผู้ได้พบเห็น ทั้งน้ำใจก็สุจริตปราศจากมลทิน อานิสงส์ดังกล่าวมานี้เพราะอำนาจการสร้างอักขระธรรมหนึ่งตัว


พุทธวัจน์






.

นางจิญจมาณวิกา

ในปฐมโพธิกาล คือระยะต้นแห่งการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า เมื่อพระสาวกของพระองค์มีมากประมาณไม่ได้ เมื่อเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากหยั่งลงในอริยภูมิ คือภูมิแห่งพระอริยะ คือเป็นพระอริยะ และเมื่อคุณสมุทัย คือเหตุที่จะให้ทราบถึงพระคุณของพระศาสดากำลังแผ่ไพศาลอยู่นั้นเอง ลาภสักการะและความนับถือเป็นอันมาก เกิดขึ้นแก่พระศาสดาและพระสาวก พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย เป็นเช่นกับแสงหิ่งห้อย ท่ามกลางแสงอาทิตย์ เสื่อมจากลาภสักการะเพราะไม่มีใครนับถือ หรือมีผู้นับถือน้อยลงมาก

พวกเดียรถีย์ก็มายืนอยู่กลางถนนแล้วประกาศว่าพระโคดมเท่านั้นหรือที่เป็นพระ พุทธเจ้า พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ทานที่ให้แก่พระสมณโคดมเท่านั้นหรือที่มีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ทานแก่พวกเราบ้าง

เรียกว่าขอกันดื้อๆ เลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะกระทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นได้ จึงประชุมกันว่า พวกเราควรจะหาโทษใส่พระสมณโคดมสักอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งหลายหมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในพระสมณโคดม ลาภสักการะ ความนับถือจะได้เกิดขึ้นกับพวกเราดังเดิม เขาตกลงกันว่าจะใช้หญิงหนึ่งทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส

กิเลสเป็นสิ่งน่ากลัว บรรดาศัตรูทั้งหลาย กิเลสเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของมนุษย์เรา เรื่องที่ยุ่งๆ กันอยู่ในสังคมมนุษย์ ก็มีกิเลสเป็นแดนเกิด คือต้นเหตุอยู่ที่กิเลส มันถึงทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากมากมายในสังคมมนุษย์ ในสังคมใดที่คนมีกิเลสน้อย เรื่องยุ่งยากก็มีน้อย แต่พอมีกิเลสมากขึ้น หรือว่าไม่สามารถดับมันได้ ระงับมันอยู่ มันก็สร้างปัญหาต่างๆ สร้างเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้น ใส่ร้ายผู้อื่นบ้าง กล่าวร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง มากมายเหลือที่จะคณานับ เพราะว่าดูเรื่องราวยิ่งดูก็ยิ่งสังเวชใจในพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์จึงทำกันได้ถึงขนาดนี้ ทำลายและทำร้ายกันได้ถึงขนาดนี้

นี่ก็ทำนองเดียวกัน แรงริษยาที่เกิดขึ้นในใจของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย ก็ใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า และได้เครื่องมือคือหญิงคนหนึ่ง

ในครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อจิญจมาณวิกา รูปสวยมาก ท่านกล่าวว่า สวยงามเหมือนเทพอัปสร แต่เราก็ไม่เคยเห็นเทพอัปสรหรือเทพธิดา ก็ไม่รู้ว่าสวยขนาดไหน ต้องถามท่านที่เคยเห็น ท่านว่ารัศมีออกจากกายของเธอ น่าดูน่าชม เป็นพวกเดียวกับเดียรถีย์

วันหนึ่ง ขณะที่นางจิญจมาณวิกาปริพาชิกา ไปหาพวกเดียรถีย์ที่อาราม ทำความเคารพแล้วยืนอยู่ ที่เคยมานั้นเดียรถีย์ก็ย่อมแสดงอาการยินดีต้อนรับเมื่อนางมา แต่วันนั้นทุกคนเฉยไปหมด นางพูดว่า

“พระคุณเจ้า ดิฉันไหว้” อย่างนี้ถึง 3 ครั้ง แต่พวกเดียรถีย์ก็ยังคงเฉยดังเดิม นางคิดว่าเธออาจมีความผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงถามว่า “ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ ดิฉันได้ทำอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจพระคุณเจ้าหรือ จึงพากันนิ่งไปหมด ไม่ยอมพูดกับดิฉัน”

เดียรถีย์จึงกล่าวขึ้นว่า “เจ้าไม่ทราบดอกหรือว่าเวลานี้ลาภสักการะของเราเสื่อมหมดแล้วเพราะใคร เพราะพระสมณโคดมคนเดียว เจ้าไม่รู้สึกเจ็บร้อนแทนพวกเราบ้างเลยหรือ”

จิญจมาณวิกาตอบว่า “ความทุกข์ของพระคุณเจ้าทั้งหลายก็เหมือนความทุกข์ของดิฉันเอง ไว้เป็นหน้าที่ของดิฉันเถิด จะจัดการให้เรียบร้อย ทำลาภสักการะให้เกิดแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดังเดิม”

พูดอย่างนี้แล้วก็จากไป นางก็วางแผนว่าจะทำอย่างไร นางก็เริ่มแต่งกายอย่างดี ห่มผ้าสีสวยเหมือนสีปีกแมลงก้อนทอง ถ้าไม่ผิดก็เป็นสีเขียวและมีสีทองปนอยู่ ถือของหอมและดอกไม้มุ่งหน้าไปวัดเชตวัน ในเวลาที่ชาวเมืองสาวัตถีฟังธรรมแล้วก็กลับออกมา นางเดินสวนเข้าไป เมื่อมหาชนถามว่าจะไปไหนเวลานี้ นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านในการไปหรือการมาของข้าพเจ้า”

อย่างนี้แล้วก็เดินผ่านวัดเชตวันไปพักวัดของพวกเดียรถีย์ ใกล้วัดเชตวันนั้นเอง ตอนเช้าเมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวนครสาวัตถีออกจากนครไปวัดเชตวัน เพื่อถวายบังคมพระศาสดา นางจิญจมาณวิกาทำทีเหมือนตนพักอยู่ในวัดเชตวันทั้งคืน ด้วยการเดินสวนออกมา

เมื่อถูกถามว่า พักอยู่ที่ไหน นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านกับที่พักของข้าพเจ้า” นางทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 เดือน

เมื่อคนทั้งหลายถามอีก จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าพักอยู่ในพระคันธกุฎีของพระสมณโคดม ในวัดเชตวันนั่นเอง”

ชาวพุทธที่เป็นปุถุชนทั้งหลายสงสัยกันมากว่า ข้อความที่นางจิญจมาณวิกากล่าวนั้น เป็นความจริงหรือหนอ ส่วนพระอริยบุคคลไม่มีใครเชื่อเลย

ล่วงไป 3-4 เดือน นางเอาผ้าพันท้องให้หนาขึ้นเพื่อแสดงว่ามีครรภ์ และให้คนทั้งหลายเข้าใจว่านางตั้งครรภ์เพราะร่วมอภิรมย์กับพระโคดมบรมศาสดา ที่คันธกุฎีในวัดเชตวัน

พอถึงเดือนที่ 8 ที่ 9 นางก็เอาไม้กลม ๆ ผูกไว้ที่ท้อง เอาผ้าห่มทับไว้ ให้คนเอาไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น ให้มีอวัยวะต่างๆบอบช้ำ ล่อลวงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าตนมีครรภ์แก่จวนคลอดเต็มทีแล้ว

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทในธรรมสภา นางได้เข้าไปยืนตรงพระพักตร์พระตถาคตเจ้า แล้วก็กล่าวว่า

“มหาสมณะ พระองค์ดีแต่แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น กระแสเสียงของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก พระโอษฐ์ของพระองค์ดูสนิทดี แต่พระองค์มิได้สนพระทัยในหม่อมฉันเลย หม่อมฉันซึ่งตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว ครรภ์นี้อาศัยพระองค์ตั้งขึ้น พระองค์ไม่เอาพระทัยใส่ต่อเครื่องบริหารครรภ์เลย แม้ไม่ทำเองก็ควรตรัสบอกสานุศิษย์คนใดคนหนึ่ง เช่น นางวิสาขา หรืออนาถบิณฑิกะ หรือพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ช่วยเหลือในการนี้ พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์อย่างเดียว แต่ไม่ทรงสนพระทัยในการคลอดของหม่อมฉันเลย”

ความพยายามของนางเป็นเหมือนจับก้อนคูถขึ้นปาพระจันทร์ พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรมอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อนางพูดจบ พระองค์ก็ตรัสด้วยพระกระแสเสียงอันเรียบว่า

“น้องหญิง เรื่องนี้เราทั้งสองคนเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”

นางจิญจมาณวิกาโกรธมาก เต้นด่าพระตถาคตเจ้าจนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้กลมเกลี้ยงหล่นลงมาจากท้องของนาง

อันนี้ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ ถ้าเล่าตามตำนานในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า เมื่อพระศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว ก็ร้อนถึงท้าวสักกะเทวราช เทวดามาช่วย ท้าวสักกะมาถึงด้วยเทพบุตร 4 องค์ เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่นางผูกไว้ จนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้ก็หล่นลงมา อรรถกถาท่านว่าอย่างนั้น

มหาชนได้เห็นกับตาเช่นกัน ก็แช่งด่านางจิญจมาณวิกาว่าเป็นหญิงกาลกรรณี ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ก็พากันถ่มน้ำลายใส่บ้าง ขว้างด้วยก้อนดินและท่อนไม้ใส่บ้าง ฉุดกระชากออกไปจากวัดเชตวัน พอลับคลองพระเนตรของพระศาสดาไปเท่านั้น นางจิญจมาณวิกาก็ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีมหานรก

วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา ถึงเรื่องที่นางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าแล้วถูกแผ่นดินสูบ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนนางจิญจมาณวิกานี้ ก็เคยหาเรื่องใส่ร้ายเราตถาคตแล้วเหมือนกัน และก็ถึงความพินาศเหมือนกัน ดังนี้แล้วตรัสใจความสำคัญในมหาปทุมชาดกว่า

“ผู้เป็นใหญ่ ยังไม่เห็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นโดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่พิจารณาด้วยตนเองแล้ว ไม่พึงลงโทษหรืออาชญา”

ความย่อในมหาปทุมชาดก จะนำมาเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง

ครั้งนั้นนางจิญจมาณวิกา เป็นหญิงร่วมสามีกับพระมารดาของพระมหาปทุมกุมาร นางเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระราชา คือพระราชบิดาของพระมหาปทุมโพธิสัตว์

นางมีจิตประดิพัทธ์ในมหาปทุมนั้น จึงเย้ายวนชวนเชิญให้ประกอบกามกิจกับนาง แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทรงยินยอมตาม ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร

นางจึงแกล้งทำอาการว่าเป็นไข้ และมีอาการแห่งผู้ตั้งครรภ์ เมื่อพระราชาตรัสถามก็ใส่ความว่า มหาปทุมกุมารราชโอรสของพระองค์ ทำให้หม่อมฉันมีอาการอันแปลกนี้

พระราชาทรงกริ้ว จึงให้ทิ้งพระโพธิสัตว์ลงในเหวที่ทิ้งโจร เทวดาที่สิงสถิตอยู่อุ้มพระโพธิสัตว์ไว้ ให้ประดิษฐานอยู่ที่พังพานนาคราช พระยานาคราชนำท่านไปสู่นาคพิภพ แบ่งราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง

พระโพธิสัตว์อยู่ในนาคพิภพปีหนึ่ง อยากจะบวช จึงไปสู่หิมวันตประเทศ บวชได้ฌานและอภิญญา

อันนี้ก็แสดงถึงว่า คนดีเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็จะมีผู้ช่วยเหลือ จะเป็นใครก็แล้วแต่ แล้วก็นำไปให้ได้รับความสุขพอสมควรแก่อัตภาพ แต่ท่านก็ไม่พอใจในสภาพเช่นนั้น ก็อยู่ไประยะหนึ่งแล้วก็มีความสังเวชสลดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อยากบวชแล้วไปบวชที่หิมวันตประเทศ ได้ฌานและอภิญญา

ต่อมาพรานไพรผู้หนึ่งมาพบพระโพธิสัตว์เข้าจำได้ จึงกลับไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จมาเฝ้า ทรงทราบเรื่องความเป็นมาทั้งหมดแล้ว ทรงเชื้อเชิญให้ไปครองราชสมบัติ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ ขอร้องให้พระราชาทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อย่าได้มีอคติ

พระราชาเสด็จกลับพระนคร ให้จับพระมเหสีผู้กลั่นแกล้งใส่ร้ายพระโพธิสัตว์นั้นไปทิ้งที่เหวทิ้งโจร แล้วครองแผ่นดินโดยธรรม

อันนี้เรียกว่ากรรมสนอง ถึงเวลาที่กรรมที่ได้กระทำไว้มาสนอง แต่ว่าคนที่ไม่ดีก็ไม่มีใครช่วย ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมของตนไป

พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า หญิงผู้นั้นในกาลนั้นมาเป็นนางจิญจมาณวิกา ส่วนพระมหาปทุมนั้นคือพระองค์เอง




พุทธวัจนะ


จากหนังสือ พุทธชัยมงคลคาถา
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ




.

จงถือว่าเราเป็น พุทธะ เถิด

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จพุทธดำเนินทางไกล พรามณ์ผู้หนึ่งได้เ...ดินทางไกลทางเดียวกับพระองค์ มองเห็นรูปจักรที่รอยพระบาทแล้วมีความอัศจรรย์ใจ ครั้งพระองค์เสด็จลงไปประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่งข้าวทาง พราหมณ์เดินตามรอยพระบาทมา มองเห็นพุทธลักษณาการที่ประทัยนัางสงบลึกซึ้งน่าเลื่อมใสยิ่งนัก จึงเข้าไปเฝ้าแล้วทูลถามว่า

ท่านผู้เจริญคงจักเป็นเทพเจ้า พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใช่ ทูลถามต่อไปว่า ท่านผู้เจริญคงจักเป็นคนธรรพ์ ยักษ์ หรือ เป็นมนุษย์ พระพุทธองค์ทรงปฎิเสธหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านผู้เจริญจะเป็นใครกันเล่า

นี่แน่ะพราหมณ์ อาสวะเหล่าใดที่เมื่อยังละไม่ได้จะเป็นเหตุให้เราเป็นเทพเจ้า เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว หมดสิ้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกต่อไป เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก ซึ่งเกิดในนํ้า เจริญในนํ้า แต่ตั้งอยู่พ้นนํ้า ไม่ถูกนํ้าฉาบติด ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกันเกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก แต่เป็นอยู่เหนือโลก ไม่ติดกลั้วด้วยโลก ฉันนั้น นี่แน่ะพราหมณ์ จงถือว่าเราเป็น พุทธะ เถิด


พุทธวัจนะจากพระโอทฐ์



.

วิสาขามหาอุบาสิกา (สตรีผู้งามพร้อม)

บทความบางตอนใน ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล โดย อ.วศิน อินทสระ

ในตอน วิสาขามหาอุบาสิกา (สตรีผู้งามพร้อม)

.....ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหน อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจ นั้นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวง ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

.....เมื่อไฟไหม้บ้าน ภารชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ที่นำออกไม่ได้ก็ถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเอง ฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟคือความแก่ ความตายไหม้อยู่ ก็ฉันนั้น คือ ผู้ฉลาดย่อมนำออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้วชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่งเมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้วพึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ

.....ความตระหนี่ลาภ เป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาผู้ไม่ฉลาดไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา เขาเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้จนเน่าและเสียไม่สามารถจะปลูกได้อีก ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้ว ๑ เมล็ด ย่อมได้ผล ๑ รวง ฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์สินไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา แต่หาได้ประดับไม่ เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา

.....นกชื่อมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขา และที่ต่างๆ มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า “ของกู ของกู” ในขณะที่มันร้องอยู่นั้นเอง หมู่นกเหล่าอื่นมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไป นกมัยหกะก็ยังคงร้องว่า “ของกู ของกู” อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวมรวบสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร ทั้งมิได้ใช้สอยเองให้ผาสุก มัวแต่เฝ้ารักษาและภูมิใจว่า “ของเรามี ของเรามี” ดังนี้

.....เมื่อเขาประพฤติอยู่เช่นนี้ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่างๆ มากมาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ มีญาติ เป็นต้น

.....ดูก่อนท่านทั้งหลาย ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้นไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใคร เหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิท เย็นดี มีท่าลง สะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่มได้อาบหรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นก็อยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเอง

.....ส่วนคนดีมีทรัพย์แล้ว ย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณพราหมณ์ให้เป็นสุข เปรียบเหมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็นน่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัยนำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ โภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่

.....ดูก่อนท่านทั้งหลาย นักกายกรรมผู้มีกำลังมากหรือนักมวยปล้ำซึ่งมีพลังมหาศาลนั้น ก่อนที่จะได้กำลังมาเขาก็ต้องออกกำลังไปก่อน การเสียสละนั้น คือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิดมนุษย์ทั้งหลายรดน้ำต้นไม้ที่โคนแต่ไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูความจริงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเถิด คือแม่น้ำสายใดเป็นแม่น้ำตาย ไม่ไหลไม่ถ่ายเทไปสู่ที่อื่น หยุดนิ่ง ขังอยู่ที่เดียว แม่น้ำสายนั้นย่อมพลันตื้นเขินและสกปรกเน่าเหม็นเพราะสิ่งสกปรกลงมา มิได้ถ่ายเท

.....นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำสายนั้นจะหาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สวยสดก็หายาก แต่แม่น้ำสายใดไหลเอื่อยลงสู่ทะเล หรือแตกสาขาออกไปไหลเรื่อยไป มันไม่รู้จักหมดสิ้น คนทั้งหลายด้อาศัย อาบดื่ม และใช้สอยตามปรารถนา มันจะใสสะอาดอยู่เสมอไม่มีวันเหม็นเน่าหรือสกปรกได้เลย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ณ บริเวณใกล้เคียงก็เขียวสดสวยงาม

.....บุคคลผู้ตระหนี่ เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็เก็บตุนไว้ไม่ถ่ายเทให้ผู้อื่นบ้าง ก็เหมือนแม่น้ำตายไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ส่วนผู้ไม่ตระหนี่เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเอื่อยอยู่เสมอ กระแสไม่ขาด ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสาธุชนได้ทรัพย์แล้วพึงบำเพ็ญตนเสมือนแม่น้ำซึ่งไหลใสสะอาด ไม่พึงเป็นเช่นแม่น้ำตาย

ยัญญสัมปทา หรือ ทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ ๖ กล่าวคือ

๑. ก่อนให้ ผู้ให้มีจิตผ่องใส ชื่นบาน
๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
๔. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ
๕. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
๖. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ

.....ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล เป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณเหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดได้โดยยากว่ามีประมาณเท่านั้นเท่า



พุทธวัจน์

กิเลสนั้นมี ๓ อย่าง















......อันกิเลสนั้นมี 3 ประการ ได้แก่ ราคะ โทสะ และโมหะ
กิเลสย่อมเผาบุคคลที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของมันให้ลุ่มร้อน กระวนกระวาย เหมือนไฟแผดเผาท่อนไม้โหมแรง และดับมอดเมื่อท่อนไม้ ไหม้เป็นจุน ความแตกต่าแห่งกิเลสทั้ง3 คือ ราคะ.....มีโทษน้อย แต่คลายช้า โทสะ.......มีโทษมาก แต่คลายเร็ว โมหะ .....มีโทษมากที่สุด ...คลายช้าที่สุด


พุทธวัจน์




...

ผู้ติดตาม