วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิสาขามหาอุบาสิกา (สตรีผู้งามพร้อม)

บทความบางตอนใน ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล โดย อ.วศิน อินทสระ

ในตอน วิสาขามหาอุบาสิกา (สตรีผู้งามพร้อม)

.....ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหน อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจ นั้นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวง ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

.....เมื่อไฟไหม้บ้าน ภารชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ที่นำออกไม่ได้ก็ถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเอง ฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟคือความแก่ ความตายไหม้อยู่ ก็ฉันนั้น คือ ผู้ฉลาดย่อมนำออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้วชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่งเมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้วพึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ

.....ความตระหนี่ลาภ เป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาผู้ไม่ฉลาดไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา เขาเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้จนเน่าและเสียไม่สามารถจะปลูกได้อีก ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้ว ๑ เมล็ด ย่อมได้ผล ๑ รวง ฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์สินไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา แต่หาได้ประดับไม่ เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา

.....นกชื่อมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขา และที่ต่างๆ มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า “ของกู ของกู” ในขณะที่มันร้องอยู่นั้นเอง หมู่นกเหล่าอื่นมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไป นกมัยหกะก็ยังคงร้องว่า “ของกู ของกู” อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวมรวบสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร ทั้งมิได้ใช้สอยเองให้ผาสุก มัวแต่เฝ้ารักษาและภูมิใจว่า “ของเรามี ของเรามี” ดังนี้

.....เมื่อเขาประพฤติอยู่เช่นนี้ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่างๆ มากมาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ มีญาติ เป็นต้น

.....ดูก่อนท่านทั้งหลาย ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้นไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใคร เหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิท เย็นดี มีท่าลง สะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่มได้อาบหรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นก็อยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเอง

.....ส่วนคนดีมีทรัพย์แล้ว ย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณพราหมณ์ให้เป็นสุข เปรียบเหมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็นน่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัยนำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ โภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่

.....ดูก่อนท่านทั้งหลาย นักกายกรรมผู้มีกำลังมากหรือนักมวยปล้ำซึ่งมีพลังมหาศาลนั้น ก่อนที่จะได้กำลังมาเขาก็ต้องออกกำลังไปก่อน การเสียสละนั้น คือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิดมนุษย์ทั้งหลายรดน้ำต้นไม้ที่โคนแต่ไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูความจริงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเถิด คือแม่น้ำสายใดเป็นแม่น้ำตาย ไม่ไหลไม่ถ่ายเทไปสู่ที่อื่น หยุดนิ่ง ขังอยู่ที่เดียว แม่น้ำสายนั้นย่อมพลันตื้นเขินและสกปรกเน่าเหม็นเพราะสิ่งสกปรกลงมา มิได้ถ่ายเท

.....นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำสายนั้นจะหาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สวยสดก็หายาก แต่แม่น้ำสายใดไหลเอื่อยลงสู่ทะเล หรือแตกสาขาออกไปไหลเรื่อยไป มันไม่รู้จักหมดสิ้น คนทั้งหลายด้อาศัย อาบดื่ม และใช้สอยตามปรารถนา มันจะใสสะอาดอยู่เสมอไม่มีวันเหม็นเน่าหรือสกปรกได้เลย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ณ บริเวณใกล้เคียงก็เขียวสดสวยงาม

.....บุคคลผู้ตระหนี่ เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็เก็บตุนไว้ไม่ถ่ายเทให้ผู้อื่นบ้าง ก็เหมือนแม่น้ำตายไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ส่วนผู้ไม่ตระหนี่เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเอื่อยอยู่เสมอ กระแสไม่ขาด ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสาธุชนได้ทรัพย์แล้วพึงบำเพ็ญตนเสมือนแม่น้ำซึ่งไหลใสสะอาด ไม่พึงเป็นเช่นแม่น้ำตาย

ยัญญสัมปทา หรือ ทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ ๖ กล่าวคือ

๑. ก่อนให้ ผู้ให้มีจิตผ่องใส ชื่นบาน
๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
๔. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ
๕. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
๖. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ

.....ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล เป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณเหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดได้โดยยากว่ามีประมาณเท่านั้นเท่า



พุทธวัจน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม