วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บันไดสู่อรหัตตผล

“.....ท่านจงเป็นผู้มีศีล ระวังในปาฏิโมกข์อยู่ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยมารยาทและธรรมเป็นโคจร จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

“..... ท่านจงเป็นผู้มีทวารอันระวังแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย (สำรวมอินทรีย์ อย่าถือนิมิต (ของรูปนั้น) ไว้ อย่าถือโดยอนุพยัญชนะ ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าอกุศลธรรมอันลามกมีอภิชฌาและโทมนัส เป็นต้น ไหลตามบุคคลผู้ไม่ระวังอินทรีย์คือตา...... จงปฏิบัติเพื่อระวังอินทรีย์ถือนัยน์ตานั้น...... ได้ยินเสียงด้วยหู แล้วดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ต้องโผฏฐัพพะ (สัมผัส) ด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต (ของอารมณ์นั้น ๆ ) ไว้อย่างถือโดยอนุพยัญชนะ
“...... ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ พิจารณาโดยอุบายอันชอบแล้ว เสพโภชนาหาร (พิจารณาว่า) เราเสพโภชนะนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อให้ร่างกายสดใส ไม่ใช่เพื่อให้ร่างกายผุดผ่อง เพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อปราศจากความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยการเสพโภชนะนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
“...... ท่านจงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ท่านจงชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่งสิ้นวันยังค่ำ จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรีถึงยามกลางแห่งราตรี พึงสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา วางเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ผูกใจหมายจะลุกขึ้น ถึงยามสุดแห่งราตรี จงกลับลุกขึ้น ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่ง
“...... ท่านจงมาตามพร้อมด้วยสติและสัปชัญญะในอันก้าว ในอันถอย ในอันแล ในอันเหลียว ในอันคู้ ในอันเหยียด ในอันทรงสังฆาฏิบาตรจีวร ในอันกิน ดื่มเคี้ยวแลจิบ ในอันถ่ายอุจาระแลปัสสาวะ ในอันเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด แลนิ่ง ท่านจงเป็นคนรูตัวกระ (ทุก ๆ อย่าง)
“...... ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า ดง โคน ต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา ป่าช้า ป่าเปลี่ยว ที่แจ้ง ลอมฟาง ในปัจฉาภัตต์ (นอกเพล) เธอกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงตั้งสติไว้เฉพาะหน้า... ย่อมทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จากอภิชฌา ย่อมทำจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายเพราพยาบาท....... มีจิตปราศจากถีนมิทธะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ มีสำคัญในอาโลกกสิณอยู่ ทำจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ ) ทำจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) ละนิวรณ์ทั้ง ๕ อันเป็นอุปกิเลสแห่งจิต เป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้แล้ว สงัดจากกามารมณ์ สงัดจากอกุศลธรรมนั่นเทียว.....บรรลุปฐมฌาน..... บรรลุทุติยฌาน..... บรรลุตติยฌาน...... บรรลุจตุตถฌาน
“ภิกษุเหล่าใดแล ยังเป็นเสขบุคคล ยังไม่ได้ถึงอรหัตตมรรคแล้ว ปรารถนาพระนิพพานเป็นที่สิ้นโยคะ ไม่มีธรรมอื่นจะยิ่งกว่า วาจาพร่ำสอนเช่นนี้ ของเรา มีอยู่ในภิกษุเหล่านั้น
“ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว เป็นผู้อยู่จบแล้ว มีกิจควรทำให้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว ธรรมทั้งหลายเหท่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในอัตตภาพนี้ ทั้งสติแลสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น”
คณกโมคคัลลาน ปญ
สูตร อุ. ม. (๙๔-๑๐๐)
ตบ. ๑๔ : ๘๒-๘๕ ตท. ๑๔ : ๖๗-๗๐
ตอ. MLS. III : ๕๒-๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม